วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ต้นประดู่ป่า

ชื่อพันธุ์ไม้                     ประดู่ป่า

ชื่อสามัญ (ไทย)            ประดู่  ประดู่ป่า (ภาคกลาง)  ประดู่เสน (ราชบุรี  สระบุรี)  ตะเลอ เตอะลอ (กะเหรี่ยง  แม่ฮ่องสอน)  ฉะนอง (เชียงใหม่)  ดู่  ดู่ป่า กะเลน (ภาคเหนือ)  จิต๊อก (ชาน  แม่ฮ่องสอน)

                   (พม่า)            Padauk

                   (อังกฤษ)        Bermese Ebony, Burma Padouk, Nara

ชื่อวิทยาศาสตร์              Pterocarpus macrocarpus Kurz และมีชื่อพ้องทางวิทยาศาสตร์ คือ               P. parvifolius Pierre
ชื่อวงศ์                             Papilionaceae


การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ

                   ไม้ประดู่ป่าเป็นไม้ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเบญจพรรณผสม และในป่าดิบแล้งทั่ว ๆ ไป ในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ลาว ไทย กัมพูชา และทางใต้ของเวียดนาม

                   ในประเทศไทย  พบประดู่ป่าขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ยกเว้นทางทางใต้ ประดู่ป่าจะขึ้นอยู่ทั้งในที่ราบ และบนลาดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100 – 750 เมตร บนดินที่ระบายน้ำได้ดี เป็นดินร่วนปนทรายจะพบประดู่ป่าเกิดขึ้นมากที่สุด บางครั้งพบขึ้นในบริเวณที่มีหินโผล่ดินเป็นลูกรัง ดินตื้น แต่การเจริญเติบโตและรูปทรงไม่ค่อยดีแคระเกร็น แตกกิ่งก้านมาก การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ดีในสภาพพื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและเปิดโล่ง ในสภาพป่าชื้นและมีความหนาแน่น การสืบพันธุ์เกิดขึ้นน้อยมาก



ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา

                   ประดู่ป่าเป็นไม้ขนาดใหญ่ยาว สูงถึง 20 – 30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1.5 – 2.5 เมตร เรือนยอดสูงประมาณ 6 – 12 เมตร เป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ กิ่งสั้นไม่แผ่กว้าง ปลายกิ่งส่วนมากจะชี้ขึ้น เปลือกนอกสีน้ำตาลปนเทา หนา แตกเป็นร่อง อายุมาก ๆ เปลือกในมีสีน้ำตาล มียางสีแดง เนื้อไม้แข็งสีขาวอมเหลือง แก่นสีน้ำตาลแกมแดง

                   
           ใบ  เป็นใบประกอบ ก้านช่อยาว 10 – 25 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 8 – 10 ใบ ใบปลายกิ่งจะมีใบย่อยหนึ่งใบ ใบมีลักษณะคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม ท้องใบมีขนอ่อน ๆ ปกคลุม ประดู่ป่าจะผลัดใบในฤดูร้อนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม และเริ่มผลิใบใหม่ในระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม


                   ดอก  ออกเป็นช่อตามง่ามใบใกล้ยอด ดอกมีสีเหลือง ออกดอกเต็มต้น มีกลิ่นหอม ออกดอกในระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน

                   
             ผล  เมื่อดอกผสมเกสรแล้วจะพัฒนาดอกเป็นผล มีปีกรอบ ๆ คล้ายแผ่นหนังลักษณะกลม ตอนกลางเป็นผลพองหนา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 –10 เซนติเมตร ผลอาจมี 1 – 3 เมล็ด ปีกของผลจะมีสีเขียวเมื่อยังอ่อนอยู่และจะกลายเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่จัด ผลจะแก่ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ผลติดอยู่กับต้นได้นาน ๆ  ดังนั้นเมล็ดที่เก็บจากผลที่ติดอยู่กับต้นนาน ๆ จะเสื่อมความงอกได้ง่ายกว่าเมล็ดที่เก็บจากผลเมื่อแก่จัด การขยายพันธุ์ควรใช้เมล็ดที่เก็บจากต้นแก่จัดเท่านั้น เมล็ดมีสีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ 0.4 –0.5 นิ้ว มีเปลือกหุ้มเมล็ดคล้ายหนังหุ้ม 1 กิโลกรัม มีผลประมาณ 1,400 – 1,900 ผล เมื่อตีเอาปีกออก 1 กิโลกรัม จะมีผลประมาณ 3,200 – 3,400 ผล การเก็บรักษาเมล็ดประดู่ป่าควรเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ และประมาณ 4 องศาเซลเซียส บรรจุในถุงพลาสติกปิดให้สนิท จะเก็บรักษาเมล็ดไว้ได้หลายปี



การขยายพันธุ์

                   ประดู่ป่าขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ตั้งแต่การเพาะเมล็ด การเสียบยอด การทาบกิ่ง การตอนกิ่ง เป็นต้น  แต่วิธีที่นิยมกันโดยทั่วไปได้แก่ การใช้เมล็ดเพาะชำเป็นกล้าไม้ เนื่องจากเมล็ดจัดหาได้ง่าย การดูแลรักษากล้าไม้ทำได้ง่ายและสะดวก สามารถผลิตกล้าไม้ได้จำนวนมาก ๆ วิธีการก็ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน ประหยัดค่าใช้จ่าย เมล็ดที่ใช้เพาะควรเป็นเมล็ดจากผลที่เก็บมาจากต้นแม่ได้ที่คัดเลือกแล้วโดยตรง เก็บเมื่อผลแก่จัด

                   การเตรียมเมล็ดก่อนเพาะชำ ต้องเอาปีกออกเสียก่อน โดยการใช้เครื่องตีเมล็ดในกรณีการเตรียมกล้าไม้จำนวนมาก ๆ ซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ไม้ป่าอาเซียน-แคนาดาได้พัฒนาเครื่องตีปีกผลประดู่ป่าที่มีประสิทธิภาพสามารถตีปีกผลประดู่ป่าได้วัน 400 กิโลกรัม การตีปีกเมล็ดจะช่วยให้เกิดขัดสีผลประดู่ป่าที่มีลักษระคล้ายแผ่นหนังให้บางลง ทำให้น้ำซึมเข้าไปเต็มที่ แล้วจะนำไปหว่านในกะบะเพาะทรายที่เตรียมไว้ โดยหว่านในอัตราเมล็ดประดู่ 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร แล้วใช้ทรายละเอียดกลบบาง ๆ หรืออาจใช้ถ่านแกลบกลบก็ได้เพื่อรักษาความชื้น เพราะเมล็ดประดู่ป่าต้องการความชื้นในการงอกมาก เมล็ดประดู่ป่าจะงอกภายใน 5 – 10 วัน อัตราการงอกของเมล็ดประดู่ป่าขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เพาะเมล็ดด้วย ควรทำการเพาะเมล็ดในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่อุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมในการงอก โรคพืชมีน้อย และเป็นช่วงที่ต้นประดู่ป่าติดเมล็ด การใช้เมล็ดใหม่ ๆ เพาะจะให้อัตราการสูง และการย้ายชำกล้าไม้ในช่วงเวลานี้จะได้อายุและขนาดของกล้าไม้เหมาะสมกับระยะเวลาปลูกพอดี ประมาณ 6 – 7 เดือน

                   การย้ายชำกล้าไม้ เมื่อกล้าไม้เริ่มแตกใบจริงแล้ว 2 คู่ สูงประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร ก็ย้ายชำลงในถุงที่เตรียมไว้ โดยทั่วไปจะใช้ถุงพลาสติกขนาด 5 x 8 นิ้ว สำหรับการชำกล้าไม้ประดู่เจาะรูที่ถึงพลาสติกก่อนเพื่อให้ระบายน้ำได้ วัสดุเพาะชำที่ใช้เป็นหน้าดินผสมกับทราย แกลบเผาและปุ๋ยคอก เพื่อช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้น หรืออาจจะใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุเพาะชำแล้วใส่ปุ๋ยเคมีละลายช้ำ ประมาณต้นละ 0.5 กรัม ก็ได้ ก่อนย้ายชำกล้าไม้ลงถุงต้องรดน้ำถุงชำให้วัสดุเพาะชำในถุงเปียกชุ่มตลอดทั้งถุงเสียก่อน การย้ายชำควรกระทำในช่วงเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อน

                   การดูแลรักษาแปลงเพาะชำและกล้าไม้ หลังจากเพาะเมล็ดแล้วต้องรดน้ำทุกวันรดน้ำเช้าและเย็นจนเมล็ดงอก เมล็ดจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 30 วัน คอยกำจัดวัชพืชในแปลงเพาะออกด้วย สำหรับกล้าไม้ที่ย้ายลงถุงเพาะชำแล้วในระยะแรกก็ต้องรดน้ำเช้าและเย็น ให้ร่มเงาแก่กล้าไม้จนกล้าไม้ตั้งตัวได้จึงค่อย ๆ เปิดร่มเงาออก การถอนวัชพืชออกจากถุงเพาะชำกล้าไม้ การให้ปุ๋ยทางใบและยาป้องกันศัตรูพืช ควรกระทำพร้อม ๆ กันทุก ๆ เดือน การตัดรากกล้าไม้และการจัดชั้นความสูงของกล้าไม้จะกระทำไปพร้อมกัน การตัดรากกล้าไม้จะช่วยให้กล้าไม้ไม่กระทบกระเทือนเมื่อเวลานำกล้าไม้ไปปลูก ดังนั้นควรทำการตัดรากกล้าไม้โดยสม่ำเสมอเมื่อรากกล้าไม้เริ่มหยั่งลงดินแล้ว และเมื่อตัดรากกล้าไม้แล้วต้องรีบรดน้ำทันที วันละ 2 ครั้ง เพื่อให้กล้าไม้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ส่วนการจัดชั้นความสูงจะช่วยให้กล้าไม้ได้รับแสงสว่างอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าไม่มีการจัดชั้นความสูงกล้าไม้แล้ว กล้าไม้ที่สูงกว่าจะเบียดบังกล้าไม้เล็กมิให้มีโอกาสเติบโตได้ และควรคัดเอากล้าไม้ต้นที่ไม่ดีเป็นโรคออกทิ้งไปด้วย



การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์

                   ดิน  ดินที่จะปลูกไม้ประดู่ควรเป็นกรดอ่อน ๆ pH ประมาณ 6.0 – 7.5 เป็นดินร่วนปนทราย ดินทราย หรือดินร่วนปนดินเหนียว แต่ต้องระบายน้ำดี ประดู่ป่าเหมาะสมที่จะปลูกในบริเวณที่เป็นดินร่วนปนทรายมากที่สุด ประดู่ป่ายังทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี สามารถขึ้งแข่งกับวัชพืชได้และยังทนทานต่อความแห้งแล้งได้นานถึง 6 – 7 เดือน

                   การเตรียมพื้นที่ปลูก  หลังจากแผ้วถางวัชพืช ดันตอไม้ ปรับพื้นที่สม่ำเสมอและเก็บริบสุมเผาแล้ว ควรทำการไถพรวน 2 ครั้ง ช่วยให้พื้นที่ระบายน้ำได้ดี และสะดวกในการบำรุงรักษาและการจัดการสวนป่าในภายหน้า การทำทางตรวจการและแนวกันไฟ เมื่อเตรียมพื้นที่เสร็จแล้วแนวกันไฟควรกว้าง ประมาณ 6 เมตร ถ้ามีการเตรียมพื้นที่เป็นผืนใหญ่ ควรแบ่งแปลงย่อยลงมาเป็นแปลงละประมาณ 100 ไร่ จะสะดวกในการทำงานและป้องกันไฟ

                   ปริมาณน้ำฝน  ประดู่ป่าขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี ตั้งแต่ 500 – 5,000 มม. จึงทนทานต่อความแห้งแล้งได้นานถึง 6 – 7 เดือน

                   อุณหภูมิ  ประดู่ป่าจะขึ้นได้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุด ระหว่าง 37.7 – 44.4 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 4.4 – 11.1 องศาเซลเซียส แต่ไม่ทนต่อสภาพน้ำค้างแข็งได้

                   ความสูงจากระดับน้ำทะเล  ประดู่ป่าขึ้นได้ดีในสภาพภูมิประเทศต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ที่ราบและบนลาดเขา ความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 100 – 750 เมตร

                   แสง  ต้องการแสงแดดเต็มที่

                   ระยะปลูกที่เหมาะสม  ประดู่ป่าเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตช้า วัสดุประสงค์ในการปลูกเพื่อต้องการไม้ขนาดใหญ่ นำไปแปรรูปใช้ในการก่อสร้างทั่วไป เครื่องเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ระยะปลูกที่นิยมทั่วไปได้แก่ ระยะปลูก 2 x 4 เมตร หรือ 4 x 4 เมตร เนื่องจากประดู่ป่าเป็นไม้มีเรือนยอดและใบกว้าง เมื่อปลูกไประยะหนึ่งเรือนยอดก็จะชิดกัน ปกคลุมพื้นล่างวัชพืชไม่สามารถเติบโตได้ภายในร่มเงา และช่วยให้ต้นไม้มีรูปทรงดี แตกกิ่งก้านน้อย มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับไม้เนื้อแข็งที่จะนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่อไป

                   การปลูก  ไม้ประดู่ป่าปลูกได้หลายวิธี ตั้งแต่การปลูกโดยใช้กล้าไม้ (pot seeding) การปลูกด้วยเหง้า (root stock) และการปลูกด้วยกล้าเปลือยราก (bare root)

                   การปลูกไม้ประดู่ป่าโดยใช้กล้า  การปลูกวิธีนี้จะได้ผลดีและรอดตายสูง จะต้องกำหนดระยะเวลาปลูกให้เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน กล้าไม้ที่ปลูกจะมีช่วงเวลาที่ได้รับน้ำฝนนานจนตั้งตัวได้ก่อนถึงฤดูแล้ง การปลูกประดู่ป่าด้วยกล้าไม้จะต้องเตรียมหลุม ขนาด 25 x 25 x 25 เซนติเมตร ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยและยากันปลวกรองก้นหลุม เพราะประดู่ป่าทนทานต่อการปกคลุมของวัชพืชได้ดีก่อนนำกล้าไม้ไปปลูกควรทำกล้าไม้ให้แกร่งเสียก่อน โดยการลดการให้น้ำ คือ ก่อนปลูก 1 เดือน กล้าไม้ควรลดการให้น้ำจากวันละ 2 ครั้ง เป็นวันละครั้งในตอนเช้า ประมาณ 15 วัน ต่อมาก็ให้น้ำวันเว้นวัน

                   การปลุกไม้ประดู่ด้วยเหง้า  การปลูกวิธีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการปลุกสร้างสวนป่าทางด้านขนส่งและการปลูก เนื่องจากเหง้ามีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เก็บรักษาได้นาน คนเดียวสามารถขนกล้าและปลูกไปพร้อมกันได้ การเตรียมเหง้าประดู่ป่าโดยย้ายกล้าประดู่ป่าลงในแปลงที่เตรียมไว้ ชำกล้าไม้ระยะห่างระหว่างต้น 10 x 10 เซนติเมตร แล้วบำรุงรักษาเหง้าในแปลงด้วยการรดน้ำ กำจัดวัชพืช เมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 1 ปี ก็ถอนมาตัดแต่งเป็นเหง้าให้มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ความโตของคอรากประมาณ 0.6 – 1.2 เซนติเมตร และตัดแต่งให้มีความยาวเหนือคอรากประมาณ 2.5 เซนติเมตร

                   การปลูกไม้ประดู่ป่าด้วยกล้าเปลือยราก  การเตรียมกล้าไม้ประดู่ป่าเปลือยรากจะเพาะเมล็ดในแปลงกลางแจ้งแล้วย้ายชำลงแปลงให้ต้นห่างกัน 15 เซนติเมตร บำรุงรักษาตัดรากอย่างสม่ำเสมอให้กล้าไม้มีระบบรากที่สมบูรณ์เป็นการควบคุมระบบราก เมื่ออายุประมาณ 7 – 8 เดือน ก็ถอนกล้าไปปลูกได้

                   การปลูกประดู่ป่าในฤดูแล้ง  เป็นการขยายระยะเวลาการปลูกออกไปได้ยาวนานขึ้น กล้าไม้ประดู่ป่าที่จะปลูกในฤดูแล้งควรเป็นกล้าไม้ค้างปี ประมาณ 16 เดือน ก่อนนำไปปลูกต้องเด็ดใบออกให้หมดแล้วรดน้ำให้ชื้น การปลูกจะฉีกเฉพาะก้นถุงเพื่อให้รากสามารถเจริญลงดินได้ หลุมปลูก ขนาด 25 x 25 x 25 เซนติเมตร ปลูกแล้วพรวนดินกลบให้เป็นแอ่งเล็กน้อยสำหรับไว้รองรับน้ำฝน ถ้าเป็นทุ่งหญ้าคาจะเจาะเป็นช่องปลูกวัชพืชที่เหลืออยู่จะเป็นร่มเงาให้กล้าไม้เป็นอย่างดี เมื่อถึงฤดูฝนให้รีบถางวัชพืชออกทันทีเพื่อให้กล้าไม้ได้รับแสงและความชื้นอย่างเต็มที่ ซึ่งกล้าไม้ประดู่จะสามารถทนแล้งได้ 1 เดือน

                   การเจริญเติบโต  จากผลการทดลองปลูกไม้ประดู่ของโครงการวิจัยและฝึกอบรมการปลูสร้างสวนป่า อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ทราบว่า ไม้ประดู่จะเจริญเติบโตช้าและโตเร็วเมื่ออายุผ่านไป 1 ปี อัตราการรอดตายสูง และทนต่อสภาพการปกคลุมของวัชพืชได้ดี และที่ศูนย์ทดลองปลูกพรรณไม้ ลำเขา-เลาทราย จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทดลองระยะปลูกของไม้ประดู่พบว่า ระยะปลูก 2 x 4 เมตร เจริญเติบโตได้ดี เมื่ออายุ 4 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.63 เซนติเมตร ความสูงเฉลี่ย 6.43 เมตร



วนวัฒนวิธีและการจัดการ

                   การดูแลและจัดการสวนป่าไม้ประดู่ป่าภายหลังการปลูก ก็ต้องกระทำเช่นเดียวกับการปลูกไม้ชนิดอื่นด้วย การกำจัดวัชพืชควรทำฤดูการเจริญเติบโตในฤดูฝนเพื่อให้กล้าไม้เจริญเติบโตพ้นวัชพืช การกำจัดวัชพืชอาจใช้คนงานถาง ใช้เครื่องจักร หรือสารเคมีก็ได้ และควรทำการกำจัดวัชพืชครั้งต่อไปก่อนถึงฤดูแล้งเมื่อป้องกันไฟการกำจัดวัชพืชควรกระทำปีละ 2 – 3 ครั้ง

                   การปลูกซ่อม  หลังจากปลูกแล้วต้องตรวจนับอัตราการรอดตายด้วยว่า รอดตายขนาดไหนเพื่อจะได้ทำการปลูกซ่อม การปลูกซ่อมควรทำหลังจากการกำจัดวัชพืชครั้งแรกเพื่อให้กล้าไม้ที่ปลูกซ่อมโตเสม่ำเสมอทันกับกล้าไม้ปลูกครั้งแรก

                   การใส่ปุ๋ย  ทำหลังจากปลูกแล้ว 1 เดือน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15:15:15 ประมาณต้นละ 50 กรัม โดยพรวนดินรอบโคนต้นใส่ปุ๋ยห่างจากโคนต้นประมาณ 30 เซนติเมตร

                   การป้องกันไฟ  ดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่ธันวาคม – พฤษภาคม ของทุกปี โดยกำจัดวัชพืชลดเชื้อไฟ ทำแนวกันไฟรอบสวนป่า

                   การตัดแต่งกิ่ง  จะทำการตัดแต่งกิ่งเมื่ออายุ 5 ปี ลิดกิ่งสูงประมาณ 6 เมตร เพื่อช่วยให้ลำต้นเปลาตรงขึ้น

                   การตัดสางขยายระยะ  ช่วยการเจริญเติบโตทางด้านเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นจะดำเนินการเมื่อเห็นว่า เรือนยอดของไม้ประดู่เบียดเสียดกัน การเจริญเติบโตรายปีเริ่มลดลงก็จำเป็นต้องตัดสางขยายระยะออก ส่วนมากจะทำเมื่ออายุประมาณ 10 ปี โดยตัดต้นเว้นต้น หรือ คัดเลือกต้นก็ได้ซึ่งตรงพิจารณาดูต้องความเหมาะสม



การใช้ประโยชน์

                   เนื้อไม้ประดู่ป่าใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆ ไป ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก ไม้ประดู่มีความถ่วงจำเพาะ 0.92 ความแข็ง 925 กิโลกรัม มีความแข็งแรง การดัด 1334 กก/ตร.ซม. การบีบ 720 กก/ตร.ซม. ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้มากเหมาะสำหรับทำคาน ทำตงในงานก่อสร้างได้ดี มีความทนทานตามธรรมชาติ (ทดลองปักดิน) มากกว่า 14 ปี ไม้ประดู่ป่ามีสีสวยงามสีแดดอมเหลือง เสี้ยนสน เป็นริ้ว ไสกบ ตกแต่งได้ดี เหมาะในการทำเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ทำเครื่องมือเครื่องใช้ เปลือกไม้ประดู่ใช้ย้อมผ่า และให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง

                   นอกจากนั้นไม้ประดู่ป่ายังใช้ประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากมีเรือนยอดและระบบรากแผ่กว้างจะช่วยป้องกันลมและคลุมความชื้นในดิน รอบรับน้ำฝน ลดแรงปะทะหน้าดินน้อยลง และช่วยยึดดินไม่ให้พังทะลาย รากมีปมใหญ่ช่วยตรึงไนโตรเจนได้ ใบที่ร่วงหล่นลงมาทับถมพุพังเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินอีกด้วย




ขอขอบคุณแหล่งที่มา:http://www.dnp.go.th/pattani_botany/